Powered by EverLive.net
เขียนโดย Super User

ประวัติการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ ๑ จังหวัดชุมพร 

(ศูนย์นวัตกรรมอุทยานแห่งชาติและพื้นที่คุ้มครองทางทะเล จังหวัดชุมพรเดิม)

สำนักงานตั้งอยู่บริเวณเขาเจ้าเมือง เลขที่ 45/3 หมู่ที่ 7 ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นหน่วยงานสังกัดส่วนจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล สำนักอุทยานแห่งชาติ จัดตั้งขึ้นตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 1474/2558 ลงวันที่ 6 กรกฏาคม พ.ศ. 2558 และต่อมาได้มีการปรับปรุงหน้าที่ความรับผิดชอบของหน่วยงานในสังกัดสำนักอุทยานแห่งชาติใหม่ ตามคำสั่งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ที่ 1663/259 ลงวันที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559 โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้

1) ศึกษา สำรวจ วิจัย พัฒนานวัตกรรมในการจัดการอุทยานแห่งชาติทางทะเล โดยเน้นการคุ้มครองระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้เป็นแหล่งศึกษาวิจัยศึกษาธรรมชาติ นันทนาการและการท่องเที่ยว รวมถึงการมีส่วนร่วมกับชุมชนและผู้เกี่ยวข้อง

2)สำรวจติดตามและประเมินสถานภาพของทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะทรัพยากรที่สำคัญหายากใกล้สูญพันธุ์ ตลอดจนผลกระทบที่เกิดจากการเข้าไปท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล 

3) จัดการเรื่องทุ่ม ท่าเทียบเรือ เรือ อุปกรณ์ดำน้ำ ฯลฯ

4) สนับสนุนการใช้นวัตกรรมและเทคนิคทางวิชาการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล

5) สำรวจ รวบรวม จัดทำฐานข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหน้าที่รับผิดชอบ

6) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย

7)  รับผิดชอบดำเนินการในพื้นที่อุทยานแห่งชาติทางทะเล ฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง จำนวน 8 แห่ง ได้แก่ 

1)  อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด                             จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2)  อุทยานแห่งชาติหาดวนกร                                    จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

3)  อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร                               จังหวัดชุมพร

4)  อุทยานแห่งชาติธารเสด็จ - เกาะพะงัน                     จังหวัดสุราษฎร์ธานี

5)  อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะอ่างทอง                            จังหวัดสุราษฎร์ธานี

6)  อุทยานแห่งชาติหาดขนอม - หมู่เกาะทะเลใต้             จังหวัดสุราษฎร์ธานี และจังหวัดนครศรีธรรมราช

7) อุทยานแห่งชาติอ่าวมะนาว - เขาตันหยง                    จังหวัดนราธิวาส

8) อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม                                      จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

 

 

 

 

 

ที่ตั้งศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่ ๑ จังหวัดชุมพร 

ตั้งอยู่บริเวณเขาเจ้าเมือง หมู่ที่ ๗ ตำบลหาดทรายรี อำเภอชุมพร มีเนื้อที่ประมาณ ๙๑ ไร่

ตั้งอยู่ที่ พิกัด UTM 47P0530750E1148090N 

อาณาเขต

ทิศเหนือ       จรด หมู่ที่ ๗ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร 

ทิศใต้           จรด หมู่ที่ ๔ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ทิศตะวันออก จรด ทะเลอ่าวไทย 

ทิศตะวันตก   จรด หมู่ที่ ๓ ตำบลหาดทรายรี อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร

ที่ตั้งที่ทำการศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ ๑ จังหวัดชุมพร

 

 

สถานที่ท่องเที่ยวบริเวณศูนย์ปฏิบัติการอุทยานแห่งชาติทางทะเล ที่ 1 จังหวัดชุมพร

1.  ลานชมวิวเขาเจ้าเมือง  เดิมชื่อ เขาปู่โสม   ได้รับการพัฒนาโดยผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร สมัยนายลิขิต รัตน์สังข์ และเปลี่ยนชื่อเป็น เขาเจ้าเมือง ในปี  พ.ศ. 2516  และถูกพัฒนาอีกครั้งหนึ่งสมัยนายประยูร พรหมพันธ์  เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร  ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของจังหวัดชุมพร  สามารถชมวิวทิวทัศน์ ของเกาะ แก่งต่างๆ  ในทะเลฝั่งอ่าวไทยได้อย่างทั่วถึง

2. พระพุทธธาตุเจดีย์ศรีชุมพร ตั้งอยู่บริเวณจุดสูงสุดของเขาเจ้าเมือง โดยการริเริ่มของ นายประยูร พรหมพันธ์ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ร่วมกับข้าราชการ  พ่อค้า และประชาชน  ผู้มีจิตศรัทธาร่วมกันดำเนินการก่อสร้าง  ดำเนินการเสร็จเมื่อวันที่  4  กรกฎาคม  พ.ศ.  2537  และสมเด็จพระสังฆราชเสด็จมาทรงเป็นประธานในพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ในพระพุทธธาตุเจดีย์ศรีชุมพร เมื่อวันที่  6  กรกฎาคม พ.ศ. 2537

3. พระพุทธเมตตามหาบารมี ซึ่งคณะกรรมการสมาคมชาวจังหวัดชุมพร และผู้มีจิตศรัทธาได้ร่วมแรงร่วมใจก่อสร้างเพื่อความเป็นสิริมงคล และให้ประชาชนได้สักการบูชา เป็นพระพุทธรูปทองสำริดปางประทานพร สูงจากฐานถึงยอดพระเกศประมาณ 15 เมตร โดยองค์พระสูงประมาณ 9 เมตร ฐานที่ประทับพระพุทธรูปเป็นอาคารโปร่งชั้นเดียวสูงประมาณ 6 เมตร ประดิษฐานบนเขาเจ้าเมืองตำบลหาดทรายรี ปากน้ำชุมพร อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เป็นพื้นที่ที่มีความสวยงามตามธรรมชาติเป็นอย่างมาก และดึงดูดให้นักท่องเที่ยว และประชาชนขึ้นไปเยี่ยมชมสักการะได้อย่างดี และสมาคมชาวจังหวัดชุมพร ได้มอบให้เป็นสมบัติของจังหวัดชุมพรในวันที่ 6 มีนาคม 2559

  สมาคมชาวจังหวัดชุมพร ได้จัดทำพิธีเททองหล่อพระ เมื่อวันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน 2557 ณ โรงหล่อพระกำแพงแสน อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม โดยหล่อองค์พระเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วยส่วนที่เป็นฐาน องค์พระ และพระเกศ โดยได้เคลื่อนย้ายไปประกอบเป็นองค์ที่สมบูรณ์ เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2558 ในวันประกอบองค์พระ ทางสมาคมชาวจังหวัดชุมพรและผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ขณะนั้นคือ นายวงศ์ศิริ พรหมชนะ ได้ร่วมกันบรรจุพระเครื่องที่ประชาชนมีความศรัทธา เคารพบูชา และสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนพระเกศาขององค์พระ ดังนี้

    1.  พระบรมสารีริกธาตุ

    2.  หลงปู่เอี่ยม วัดสะพานสูง จ.นนทบุรี

    3.  หลวงพ่อพรหม วัดช่องแค จ.นครสวรรค์

    4.  หลวงพ่อสงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จ.ชุมพร

    5.  เสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ รุ่นสร้างเสาหลักเมืองชุมพร

    6.  เหรียญสมเด็จพระปิยมหาราช รัชกาลที่ 5

    7.  พระแก้วมรกต

    8.  หลวงพ่อโสธร จ.ฉะเชิงเทรา

    9.  พระรอด ลำพูน

    10. หลวงปู่โต๊ะ

    11. พระพุทธฉาย  จ.สระบุรี 

     12. หลวงพ่อทวด วัดช้างไห้ จ.ปัตตานี

    13. จตุคาม - รามเทพ ย้อนยุคปี 2530 รุ่นเสริมบารมีศรีวิชัย

    14. พระไพรีพินาศ วัดบวรนิเวศน์ กรุงเทพมหานคร

    15. ปูชนียมงคลที่สร้างโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

          จำนวน  1 ชุด 9 องค์

มูลเหตุที่สำคัญในการดำเนินการก่อสร้างพระพุทธรูปซึ่งถือว่าเป็นกิจกรรมที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาคมชาวจังหวัดชุมพรที่จะช่วยในการพัฒนาจังหวัด และช่วยพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของจังหวัดเพื่อให้เป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วไป โดยในปี พ.ศ.2546 สมาคมได้ก่อสร้าง พระอวโลกิเตศวร (พระโพธิสัตว์กวนอิม) บนเขามัทรี ปากน้ำชุมพร และมอบให้จังหวัดชุมพรไปแล้ว ซึ่งขณะนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัด ฉะนั้นการก่อสร้างพระพุทธรูป ปางประทานพร และประดิษฐานบนเขาเจ้าเมือง ซึ่งมีภูมิทัศน์ที่สวยงามและเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญอีกแห่งหนึ่ง เพราะอยู่ในละแวกเดียวกับหาดทรายรี ใกล้กับเขามัทรี ศาลาที่ประทับ พระรูปรัชกาลที่ 5 ใกล้บริเวณพระรูปเสด็จในกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ เมื่อพระพุทธเมตตามหาบารมี สร้างเสร็จสมบูรณ์ก็จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวในเขตปากน้ำชุมพรอีกบริเวณหนึ่งที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวขึ้นไปกราบสักการะได้เป็นจำนวนมาก

 

ทางสมาคมได้เชี่ยวชาญในการสร้างพระพุทธรูปทำการสำรวจพื้นที่หลายแห่งในจังหวัดชุมพร พบว่าบนเขาเจ้าเมืองมีความเหมาะสมมากที่สุด จึงได้ขออนุญาตจังหวัดชุมพรและได้รับอนุญาตให้ทำการก่อสร้างได้จากผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ในขณะนั้น คือ นายพีระศักดิ์ หินเมืองเก่า เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2557 สมาคมได้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่ปี พ.ศ.2557 โดยทำพิธีเททองหล่อพระที่โรงหล่อพระ กำแพงแสน และสร้างเสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 และทำพิธีสมโภช เมื่อวันที่อาทิตย์ที่ 6 มีนาคม 2559 หลังจากนั้นสมาคมชาวจังหวัดชุมพรได้มอบให้เป็นสมบัติของจังหวัดชุมพรในวันเดียวกัน